- Details
- Category: -กิจกรรมเพื่อสังคม
- Published: Saturday, 07 April 2018 08:24
สมาร์ทซิตี้ สตาร์ท อัพ ใกล้ลงพื้นที่จริง เสียงตอบรับจากเอกชน
ชุมชนดีเยี่ยม พร้อมปรับตัวรับไทยแลนด์ 4.0
![]() โครงการ Smart City Start Up Development ได้ดำเนินการการเป็นเวลาเกือบจะครบ 1 ปีเต็ม ซึ่งได้คัดเลือกโครงการของนักวิจัยที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการได้ถึง 23 โครงการ และมีนักวิจัยทั้งหมดเข้าร่วมโครงการกว่า 50 ท่าน การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้นั้น ทางโครงการ ฯ ได้เห็นความคิดของนักวิจัยที่หลากหลายในมิติต่าง ๆ อาทิ การกำจัดขยะในรูปแบบต่าง ๆ การบริหารการจัดการคิวในโรงพยาบาล การสั่งซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้า บัตรประจำตัวนักเรียนที่สามารถจะให้ข้อมูลแก่ผู้ปก ครอง คุณครูได้ เพียงแค่แตะบัตรลงไปในจุดต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาเด็กหาย เด็กถูกล็อกอยู่ในรถยนต์ และการสร้างแอพพลิเคขั่นเพื่อให้คนตาบอดใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ จะเห็นได้ว่า นักวิจัยได้คิดโครงการขึ้นมาหลากหลายคลอบคลุมไปเกือบทุกกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากทางคณะผู้จัดทำโครงการ ฯ จะมีคณาจารย์ด้านต่าง ๆ ให้คำแนะนำแก่ทีมนักวิจัยแล้ว ยังมีการสอนด้านแผนงานการตลาด โดยได้รับความร่วมมือจากนักธุรกิจ นักการตลาดจากสาขาต่าง ๆ จำนวนมาก ที่นำความต้องการจากภาคเอกชนมาเชื่อมต่อกับงานวิจัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน อาทิเช่น บางโครงการที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะ ได้มีการเจรจากับโครงการคอนโดมิเนียมบางโครงการไปแล้ว และคาดว่าทุกโครงการจะได้รับการต่อยอดจากนักธุรกิจในสาขาที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่า บางโครงการที่มีรูปแบบงานวิจัยคล้ายกัน ซึ่งรูปแบบอาจมีความต่างกันไปบ้าง แต่เป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีต่อสังคมเช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างโครงการทั้งสองนี้ เชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้มาผนึกร่วมมือกัน น่าจะเป็นโครงการที่จะพัฒนาระบบการกำจัดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้เมืองไทยเรามีความน่าอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคตได้
ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ สำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า “ที่มาของโครงการนี้มาจากความร่วมมือในปีงบประมาณ 2560 ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.เชียงราย) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยสร้างฐานข้อมูลและระบบการบริหารจัดการขยะของเสียอันตรายชุมชนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย (D-ToC)” แนวคิดของโครงการต้องการให้ระบบศูนย์ข้อมูลสนับสนุนการจัดการขยะของเสียอันตรายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 143 แห่งในจังหวัดเชียงรายส่งข้อมูลขยะอันตรายที่เก็บรวบรวมได้ในพื้นที่ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ อบจ.เชียงรายนำข้อมูลมาประมวลผลและดำเนินการต่อไป โดยไม่ต้องอาศัยโกดังเก็บรวบรวมกลาง แต่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประสานงานจุดเก็บรวบรวมที่กระจายตัวในระดับตำบลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ระบบ D-ToC นี้ช่วยให้จังหวัดเชียงรายสามารถรวบรวมขยะอันตราย ได้แก่ ซากหลอดไฟฟลูออเรสเซนท์ ซากแบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์อัดแก๊ส และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขนส่งไปกำจัดอย่างปลอดภัยได้ถึง 23 ตัน อันเป็นปริมาณที่สูงที่สุดในประเทศในปี พ.ศ. 2560
“โครงการวิจัยระบบจัดการขยะอันตรายชุมชนอัจฉริยะ ภายใต้โครงการ Smart City Startup Development เป็นการต่อยอดพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการขยะอันตรายให้เป็นอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการคาดหวังถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ คือ 1) อุปกรณ์ต้นแบบที่ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกประเภทขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ลดการปนเปื้อนของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานต้องสัมผัสกับขยะอันตราย 2) ข้อมูลขยะอันตรายจากจุดนำร่องที่มีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น 3) วิธีการปฏิบัติงาน (Workflow) จะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลมากขึ้นช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถวางแผนการเก็บขนขยะอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4) เป็นการนำร่องสำหรับการพัฒนาโมเดลการจัดการขยะอันตรายที่มีประสิทธิผลและสามารถขยายผลไปในพื้นที่อื่นได้ในอนาคต”
จากการเปิดรับสมัครนักวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองในโครงการนี้ จะเห็นได้ว่านักวิจัยมีมุมมองเพื่อแก้ปัญหาเมืองต่างกัน แต่ต่างมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่นในเรื่องในเรื่องการกำจัดขยะเหมือน กันแต่นักวิจัยต่างก็มีการนำเสนอในมิติที่ต่างกัน ทางทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้นำเสนอโครงการถังขยะฝาเปิดอัติโนมัติปลอดเชื้อโรคด้วยระบบละอองลอยอนุพันธุ์อนุมูลอิสระ
ผศ.ดร.อาลักษณ์ ทิพยรัตน์ อาจารย์จากสำนักงานจัดการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “เมื่อไม่นานมานี้ได้ส่งผลงาน “Environmental-friendly, hydroxyl free radical fumigation for fast and complete surface disinfection” ในการประกวดผลงานการประดิษฐ์คิดค้นระดับนานาชาติ ในงาน“45th International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้รับรางวัล 2 เหรียญทอง เลยนำผลงานจากงานวิจัยที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและเข้าร่วมโครงการ Smart City Start Up Development สิ่งที่ทำในโครงการนี้จะเป็นถังขยะฝาเปิดอัติโนมัติปลอดเชื้อโรคด้วยระบบละอองลอยอนุพันธุ์อนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นการกำจัดเชื้อโรคในถังขยะด้วยการทำปฏิกิริยาเคมีจากหลาย ๆ ตัวรวมกัน”
วิธีการ คือเมื่อคนเอาขยะมาทิ้งลงในถัง แล้วปิดฝาถัง กระบวนการทำงานในถังขยะจึงเริ่มขึ้นด้วยการที่เซ็นเซอร์จะจับขยะในถังแล้วก็ปล่อยละอองลอยออกมาฆ่าเชื้อขยะ จะทำให้ขยะปลอดเชื้อก่อนการที่จะนำไปกำจัดรวมกับขยะอื่น ๆ ซึ่งแนวคิดนี้ก็น่าจะเป็นแนวคิดที่ทุก ๆ คนเห็นเหมือนกัน ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ถังขยะ เพราะถังขยะมีกลิ่น ดูเลอะเทอะ มีเชื้อโรค บางคนเอาขยะมาวางไว้บนฝาถัง ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะเป็นการทำให้เชื้อโรคกระจายออกไปและบ่มเพาะเชื้อโรค เชื้อโรคยังไม่ได้ถูกกำจัดไปทันที และพร้อมที่จะแพร่กระจายไปในอากาศ แต่หลังจากที่ได้คิดค้นตัวละอองลอยมากำจัดเชื้อโรคในถังขยะแล้ว ก็จะเปลี่ยนแนวคิดของคนได้ คือสามารถจะจัดให้ถังขยะเข้าไปอยู่ใกล้กับคนได้
โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการนำร่องไปก่อน ถังขยะนี้จะไปวางไว้ในเขตเทศบาลตำบลแสนสุข ในอนาคตนวัตกรรมนี้ต้องมีการพัฒนาให้ครบวงจรและหากสำเร็จก็จะวางไว้เพื่อให้บริการในแหล่งชุมชนที่มีขยะมีเชื้อโรคต่อไป
โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาภาพรวม และเพื่อก้าวให้ทันยุคดิจิตอลและ Internet of things (IOT) และเป็นโครงการ ฯ นี้ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 (เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี คือปี 2560-2564) โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานโครงการฯ
|